วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

ประโยชน์ของ ฝันกลางวัน

นักวิจัยชี้ปล่อยใจฝันกลางวัน ไขปัญหาได้เร็วกว่าเค้นสมอง
การฝันกลางวันอาจทำให้คนเราหาทางออกของปัญหาได้ดีกว่าการพยายามเค้นความคิด
เอเจนซี – การฝันกลางวันไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นฟุ้งซ่านเลื่อนเปื้อนเหมือนที่ส่วนใหญ่คิดกัน แท้จริงแล้วขณะที่ความคิดล่องลอย สมองกลับทำงานหนักขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
นักวิจัยสแกนสมองอาสาสมัครที่นอนอยู่ภายในเครื่อง MRI (อุปกรณ์สร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า) ซึ่งพบว่า ‘เครือข่ายเริ่มต้น’ ในสมองจะทำงานหนักขึ้นระหว่างการฝันกลางวัน
แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ระหว่างช่วงเวลาเดียวกันนั้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน หรือ ‘เครือข่ายขั้นสูง’ มีการทำงานอย่างหนักเช่นเดียวกัน
“คนมักคิดเองว่าคนที่ใจลอยฝันกลางวันมักเป็นพวกจิตว่าง แต่การศึกษาของเราได้ผลออกมาในทางตรงข้าม กล่าวคือระหว่างที่ดูเหมือนล่องลอยนั้น สมองยังคงทำงานและทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ” คาลินา คริสทอฟฟ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาท ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงานชิ้นนี้ และเป็นผู้อำนวยการห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบียในแคนาดา กล่าว
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารโปรซีดดิ้งส์ ออฟ เดอะ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ เสนอแนะว่าการฝันกลางวันอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการขมักเขม้นเค้นความคิดเพื่อให้ได้คำตอบออกมาเดี๋ยวนั้น
“แม้มีวิธีคิดต่างไปจากคนที่สมองจดจ่อขณะทำภารกิจที่มุ่งเน้นเป้าหมาย แต่คนที่ปล่อยให้ตัวเองฝันกลางวันจะสามารถนำทรัพยากรในความคิดและในสมองออกมาใช้ได้มากกว่า” คริสทอฟฟ์ย้ำ
ปกติแล้วคนเราจะใช้เวลา 1 ใน 3 ที่ตื่นอยู่ฝันกลางวัน
“การฝันกลางวันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่กลับถูกวิทยาศาสตร์ละเลย”
การศึกษาของนักวิจัยแคนาดากลุ่มนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอมาศึกษากิจกรรมในสมองระหว่างสิ่งที่คริสทอฟฟ์เรียกว่า ‘การคิดตามสัญชาติญาณและประสบการณ์ส่วนตัว’

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Desenvolvido por EMPORIUM DIGITAL